HOt

สนใจลงโฆษณา ติดต่อ 089-303-7420
Facebook:
LINE: 0893037420

พ่อเมืองปทุมธานีเปิดกิจกรรมพายเรือเพื่อเจ้าพระยาสายเก่าปทุมธานี


วันที่ 6 ธันวาคม 2563 เวลา 08.30 น. ที่ทำการเชียงราก การประปานครหลวง จังหวัดปทุมธานี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม “พายเรือเพื่อแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าปทุมธานี ” พร้อมด้วย ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายรักษ์ศักดิ์ สุริยหาร รองผู้ว่าการประปานครหลวง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักศึกษา อาจารย์และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม

โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ร่วมกับ การประปานครหลวง และจังหวัดปทุมธานี จัดงานพายเรือเพื่อเจ้าพระยาสายเก่าปทุมธานี โดยเริ่มต้นจากที่ทำการเชียงราก การประปานครหลวง เข้าไปยังคลองน้ำอ้อม คลองบางหลวงเชียงราก และคลองบ้านพร้าว สิ้นสุดที่วัดบ้านพร้าวนอก รวมระยะทาง 21 กิโลเมตร


คลองทั้ง 3 สายที่เป็นเส้นทางพายเรือนี้ เคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ซึ่งมีความคดเคี้ยวมากเนื่องจากเป็นช่วงปลายแม่น้ำ จึงมีการขุดคลองลัดขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่อร่นระยะการเดินทางของเรือสำเภาที่ใช้ในการค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างชาติต่าง ๆ คลองลัดที่ขุดขึ้นใหม่ได้กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน ซึ่งลดระยะทางจากเดิม 21 กิโลเมตร เหลือเพียง 5 กิโลเมตร ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็กลายเป็นคลองทั้ง 3 สายมองจากที่สูงจะเห็นเชื่อมต่อกันเป็นรูปเลข 3 อารบิก ต่อมาการประปานครหลวงเรียกรวมแนวคลองนี้ว่า “คลองเลข 3”


 คลองเลข 3 ยังมีความสำคัญในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นของการประปาไทยเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 โดยประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการวางระบบน้ำประปาขึ้น จากการที่กรมสุขาภิบาลได้ให้กักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ในคลองบางหลวงเชียงราก อาศัยจังหวะน้ำขึ้นน้ำลง โดยสร้างประตูน้ำกั้นไว้เปิด-ปิดรับน้ำ สร้างโรงสูบน้ำแล้วขุดคลองประปาขนานกับคลองเปรมประชากรเพื่อส่งน้ำไปยังโรงกรองน้ำสามเสน ภายหลังโรงสูบน้ำย้ายขึ้นไปสร้างที่กลางคลองเลข 3 เป็นโรงสูบสำแลทุกวันนี้


ปัจจุบัน คลองเลข 3 มีประตูน้ำปิดที่ปากแม่น้ำทั้ง 3 จุด การเป็นคลองปิดส่งผลให้มีการสัญจรและใช้งานน้อยลง ปี  พ.ศ. 2542 ซึ่งมีการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ได้มีการถมคลองไปช่วงหนึ่งเพื่อทำถนนแล้ววางแนวท่อระบายน้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร 2 ท่อด้านล่างแทน ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าถูกลดความสำคัญลงไปอีก ขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่ก็กลายสภาพเป็นคลองน้ำนิ่งทำให้มีผักตบชวาขึ้นหนาแน่น

 


อย่างไรก็ดี ชุมชนริมสองฝั่งคลองยังคงใช้คลองเพื่อการสัญจรอยู่บ้าง อีกทั้งยังใช้งานในเชิงวัฒนธรรม เช่น การตักบาตรพระร้อยหลังวันออกพรรษาซึ่งพระสงฆ์ 100 รูปจะพายเรือมารับบาตรจากประชาชน แต่การถมคลองทำให้ชุมชนถูกตัดขาดจากกัน ชุมชนสองฝั่งคลองจึงได้เรียกร้องให้ฟื้นฟูคลองมาเกือบ 10 ปี โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้ามาเกี่ยวข้องเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จากการพานักศึกษาไปดูพื้นที่เพื่อหาทางขุดคลองที่ถูกถมกลับมาใหม่ ซึ่งหลังจากนั้น มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับชุมชน รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากการประปานครหลวง เสนอต่อกรมทางหลวงให้คืนชีวิตแก่แม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าปทุมธานีอีกครั้งหนึ่งโดยการรื้อถนนออก แล้วยกสูงขึ้นเป็นสะพาน ซึ่งกรมฯ ได้รับข้อเสนอและจัดทำแบบก่อสร้างแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรองบประมาณในการก่อสร้าง ด้านกรมชลประทานก็ยินดีที่จะเปิดประตูน้ำที่ขวางระหว่างคลองกับแม่น้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้แม่น้ำกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง


 งานพายเรือในครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ชุมชน และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในการรื้อฟื้นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าของปทุมธานี หากทำได้สำเร็จก็จะเกิดเส้นทางยาว 26 กิโลเมตรรอบพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นเกาะ ซึ่งมีขนาดเป็นสองเท่าของเกาะเมืองอยุธยา จะเกิดการท่องเที่ยวทางน้ำที่คืนชีวิตให้แก่ทั้งชุมชนและวัดที่มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น